คำถาม-คำตอบ

คำถาม: เด็กอนุบาลที่อยู่ในภาวะเสี่ยง LD มีวิธีการสังเกตอย่างไร

คำตอบ: การสังเกตว่าเด็กปฐมวัยหรือเด็กที่กำลังเรียนอยู่ในระดับชั้นอนุบาลหรือเด็กเล็กว่า
อยู่ในภาวะ เสี่ยง LD หรือไม่นั้น มีวิธีการสังเกตพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกเบื้องต้นใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านภาษา ด้านการเคลื่อนไหว ด้านการคิด ด้านความสนใจ และด้านพฤติกรรมทางสังคม (ดารณี ศักดิ์ศิริผล. 2557) ซึ่งทั้ง 5 ด้านดังกล่าวเป็นลักษณะหรือพฤติกรรมที่บ่งชี้ว่าเด็กอาจมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ การสังเกต ผู้สังเกตจะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ต่อเนื่อง และสังเกตในสถานการณ์ต่างๆ รายละเอียดของพฤติกรรมมีดังต่อไปนี้

แหล่งอ้างอิง: ดารณี ศักดิ์ศิริผล. (2557). แบบคัดกรองเด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการมีความบกพร่องทาการเรียนรู้.
ภาควิชาการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. กรุงเทพฯ.


คำถาม: เด็กอนุบาลจะรู้ไหมว่าเป็นแอลดี (LD) /แอลดีรู้ได้ตั้งแต่อนุบาลหรือไม่

คำตอบ: เด็กแอลดี หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้เป็นเด็กที่มีปัญหาด้านการอ่าน
การเขียน และ/หรือการคิดคำนวณ โดยเฉพาะทักษะด้านการอ่าน การเขียนเป็นทักษะที่พบมากที่สุด

โดยทั่วไปคำที่ใช้เรียกว่า “เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ LD” จะใช้เรียกเด็กในระดับประถมศึกษาขึ้นไป ส่วนเด็กที่อยู่ในระดับอนุบาลหรือเด็กเล็ก ซึ่งเป็นเด็กปฐมวัยนี้มักจะเรียกว่า “เด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการมีความบกพร่องทางการเรียนรู้” ที่เรียกเช่นนี้เนื่องจากเด็กปฐมวัยบางคนอาจไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมหรือได้รับแต่ไม่เพียงพอจึงทำให้เด็กมีความล่าช้าในการเรียนรู้ นอกจากนี้การจัดการศึกษาในระดับอนุบาลมักจะเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา มากกว่าการเน้นอ่าน เขียน และคิดคำนวณ แต่ในปัจจุบันนี้พ่อแม่ส่วนใหญ่ให้ลูกเรียนรู้การอ่าน การเขียน ตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ดังนั้นเด็กในระดับอนุบาลหรือเด็กเล็กแสดงพฤติกรรมว่ามีความบกพร่องทางการเรียนรู้จึงยังไม่สามารถระบุว่าเป็น LD อย่างไรก็ตามเด็กปฐมวัยเมื่อได้รับการเตรียมความพร้อมที่ดีและเหมาะสมก็จะมีความสามารถในการเรียนรู้ที่ดีได้

การค้นหาว่าเด็กคนใดบ้างที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการมีความบกพร่องทางการเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องตระหนักและร่วมมือกัน การค้นหาจะใช้การสังเกตและเครื่องมือในการทดสอบ ซึ่งการสังเกตลักษณะหรือพฤติกรรมจะเป็นขั้นตอนแรกที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ใกล้ชิดสามารถดำเนินการได้ แต่สำหรับการใช้เครื่องมือในการทดสอบนั้นจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมและผ่านการทดสอบการใช้เครื่องมือมาอย่างดีแล้วจึงจะสามารถดำเนินการได้ ผลจากการสังเกตหรือการทดสอบจะสามารถบ่งชี้หรือระบุได้ว่า เด็กคนใดอยู่ในภาวะ เสี่ยง ต่อการมีความบกพร่องทางการเรียนรู้และจะต้องได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วต่อไป


คำถาม: พ่อแม่ที่มีลูกบกพร่องทางการได้ยิน จะมีวิธีจัดการกับความเครียดอย่างไรบ้าง

คำตอบ: ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า ความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และเกิดได้ตลอดเวลา ในภาวะสังคมเศรษฐกิจปัจจุบัน ชีวิตประจำวันของทุกคนมีภาระกิจการงาน ภารกิจครอบครัว และสังคมที่ยุ่งเหยิง หากว่าเราต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น ทำให้เกิดความกดดัน ความวิตกกังวล ความขัดแย้ง ความคับข้องใจ และในที่สุดจะนำไปสู่ความเครียด อย่างไรก็ตามความเครียดในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความเครียดที่ไม่ถาวร สามารถคลี่คลายได้ด้วยกาลเวลา และสติปัญญาในการแก้ไขสถานการณ์

สำหรับความเครียดที่เกิดจากปัจจัยทางสุขภาพหรือมีความบกพร่องทางร่างกาย เป็นความเครียดที่ไม่สามารถคลี่คลายได้ด้วยกาลเวลา แต่ต้องใช้สติปัญญาในการศึกษาและค้นหาวิธีเพื่อแก้ไขและพัฒนาสิ่งที่บกพร่องให้สามารถใช้การได้ระดับหนึ่ง และเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัญหานั้น สิ่งสำคัญยิ่งคือการย่อมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ทำให้เรามีสมาธิและสติปัญญาในการแก้ไขเพื่อพัฒนาสิ่งที่ยังคงมีอยู่ในตัวเราให้ดีที่สุด

ความเครียดของพ่อแม่ที่มีลูกบกพร่องทางการได้ยินจะค่อยๆ บรรเทาลงได้ แต่จะไม่สามารถขจัดออกไปได้หมด ทั้งนี้เนื่องจากพ่อแม่จะมีความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลาตามการเจริญวัยของลูก นอกจากความพยายามทุกด้านในการแก้ไขความบกพร่องด้วยการใส่เครื่องช่วยฟัง หรือประสาทหูเทียม การฝึกฝนการใช้ภาษาที่เริ่มล่าช้ากว่าเด็กปกติ พ่อแม่ยังมีภาระหนัก (มากกว่าการดูแลเด็กปกติมากๆ) ในการดูแลและกระตุ้นพัฒนาการเรียนรู้ให้สามารถเข้าสังคมและพัฒนาศักยภาพทางการศึกษา ซึ่งเป็นความหวังที่พ่อแม่ทุกคนต้องการให้ลูกสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ความก้าวหน้าในการพัฒนาตนทุกด้านของลูกจะเป็นกำลังใจที่ดี ทำให้ความวิตกกังวลของพ่อแม่ลดลง และความเครียดก็จะค่อยๆ บรรเทาลง อย่างไรก็ตามต้องอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจของคนในครอบครัว พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งต้องเสียสละอาชีพการงาน ลดการทำงานลง และให้การดูแลลูกที่บกพร่องอย่างใกล้ชิด พี่หรือน้องของลูกที่บกพร่องทางการได้ยินต้องเป็นกำลังใจและให้การสนับสนุน

ลลิตา อัศววิชัยโรจน์


คำถาม: เด็กพูดไม่ชัดคือเด็กแอลดีทางการพูดใช่ไหม

คำตอบ: ก่อนที่จะตอบคำถาม “เด็กพูดไม่ชัดคือเด็กแอลดีทางการพูดใช่ไหม” เรามารู้จักเรื่องของความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือที่เรียกกันว่า แอลดี หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Learning Disability ซึ่งความบกพร่องทางการเรียนรู้เป็นความผิดปกติของกระบวนการทางจิตวิทยา ที่เกี่ยวข้องกับการรับข้อมูล การแปลผล และการแสดงออก ส่งผลให้ผู้ที่มีความผิดปกติดังกล่าวมีความบกพร่องทางด้านการอ่าน การเขียน การสะกดคำ และการคิดคำนวณ ทั้งนี้ไม่รวมสาเหตุที่มาจากความบกพร่องทางการได้ยิน ความบกพร่องทางสติปัญญา บกพร่องทางการเห็น ด้อยโอกาส หรือความแตกต่างทางวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ถ้าดูจากภายนอกจะไม่ปรากฏลักษณะที่แตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป เนื่องจากความผิดปกตินี้เป็นส่วนของสมอง เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ บางคนจะมีปัญหาด้านการฟังมีความยากลำบากในการแยกแยะเสียงของตัวอักษรหรือ คำที่คล้ายคลึงกัน เช่น คำว่า ดินแดง กับ ดินแดน เป็นต้น ในขณะที่บางคนอาจมีปัญหา ด้านการพูด เช่น พูดไม่เป็นประโยค พูดแล้วคนอื่นไม่เข้าใจ พูดโดยใช้คำศัพท์ไม่ตรงกับความหมายที่ต้องการพูด เป็นต้น เด็กบางคนจะมีปัญหาการอ่านการเขียนที่เรามักได้ยินเสมอๆ ว่า พวกอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และบางคนอาจมีปัญหาด้านการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์

สำหรับการพูดไม่ชัด เป็นความผิดปกติในการออกเสียงพูด โดยลักษณะการออกเสียงพูดไม่ชัดเจนแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ 1) การใช้เสียงหนึ่งแทนเสียงหนึ่ง เช่น คำว่า “เสือ” ออกเป็น “เฟือ” เป็นต้น 2) การเว้นไม่ออกเสียงบางเสียง เช่น คำว่า “โรงพยาบาล” ออกเป็น “โรงบาล” เป็นต้น 3) การออกเสียงเพี้ยน เป็นการออกเสียงที่ฟังแล้วเพี้ยนไปจากคำพูดที่ชัดเจนแต่ไม่สามารถบอกได้ว่าผิดอย่างไร 4) การออกเสียงเพิ่ม เช่น คำว่า “ตกใจ” ออกเป็น “ตก-กะ-ใจ” เป็นต้น

การพูดไม่ชัดอาจเกิดได้กับเด็กปกติทั่วไป เราจะสังเกตเห็นว่าเด็กปกติก็พูดไม่ชัดเจน หรือแม้แต่ตัวเราเองก็อาจจะออกเสียงไม่ชัดเจน อาทิ การออกเสียง ร หรือคำควบกล้ำ เช่น คำว่า “เรา” เวลาพูดก็มักจะออกเสียงเป็น “เลา” หรือคำว่า “กล้วย” ออกเสียงเป็น “ก้วย” เป็นต้น

ดังนั้นจากคำถามที่ว่า “เด็กพูดไม่ชัดคือเด็กแอลดีทางการพูดใช่ไหม” จะเห็นได้ว่าลักษณะของความผิดปกติระหว่างปัญหาการพูดของเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้กับปัญหาการพูดไม่ชัดจะแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้บางคนอาจมีปัญหาการพูดไม่ชัดด้วย


คำถาม: ครอบครัวเรามีลูก 2 คน คนโตเป็นผู้ชายอายุ 6 ขวบ 3 เดือน คนเล็กเป็นลูกสาว อายุ 4 ขวบ 11 เดือน ทั้งสองคนเป็นเด็กสุขภาพดี มีระดับไอคิวเกินเกณฑ์เฉลี่ย ทางโรงเรียนให้คำแนะนำว่าถ้าจะให้ลูกมีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้นควรจะให้ทำกิจกรรมด้านศิลปะหรือดนตรี เนื่องจากลูกทั้ง 2 คน ค่อนข้างซน ใจร้อน มักทำงานเลิกกลางคันเกรงว่าจะเป็นเด็กสมาธิสั้น จึงอยากให้เด็กมีโอกาสได้พัฒนาการควบคุมตนเองด้วย จึงอยากทราบว่า การใช้ศิลปะและดนตรีต่างกันอย่างไร ผมควรจะให้ลูกเรียนศิลปะหรือดนตรี และดนตรีบำบัดกับศิลปะบำบัดเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

คำตอบ: การนำดนตรี/ศิลปะมาใช้ในการปรับพฤติกรรมหรือพัฒนาเด็กเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมไม่น้อยในสังคมยุคปัจจุบัน ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับความหมาย กระบวนการ และประโยชน์ของการนำศิลปะ/ดนตรีมาใช้ในการพัฒนาหรือการบำบัดดังนี้

ศิลปะบำบัด (Art Therapy) คือการนำกิจกรรมทางศิลปะมาค้นหาข้อบกพร่องความผิดปกติบางอย่างของกระบวนการทางจิตโดยใช้ความรู้เกี่ยวกับการประเมินทางจิตวิทยาเพื่อเข้าใจความคิดและเลือกใช้กิจกรรมทางศิลปะที่เหมาะสมมาช่วยในการบำบัดและฟืนฟูสมรรถภาพให้ดีขึ้น โดยมีแนวคิดว่าศิลปะคือหนทางของการปลดปล่อยอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความต้องการของแต่ละคน นายแพทย์ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นอธิบายว่า ศิลปะบำบัดมีขอบข่ายกว้างขวาง คือ
1) ทัศนศิลป์ ซึ่งหมายถึงการวาด การเขียน การแกะสลัก การประดิษฐ์
2) ดนตรี ทั้งการเล่น การร้อง กิจกรรมเข้าจังหวะ
3) การแสดง (drama) ได้แก่ การเคลื่อนไหวร่างกาย การแสดงละคร การเล่นบทบาทสมมติ
4) วรรณกรรม (literature) ได้แก่ บทกวี นิยาย นิทาน เรื่องสั้น เป็นต้น

ดนตรีบำบัด (music therapy) เป็นการใช้กิจกรรมดนตรี เช่น การร้องเพลง การเล่นเครื่องดนตรี การแต่งเพลง การฟังเพลงที่ออกแบบให้เหมาะสมกับผู้เข้ารับบริการดนตรีบำบัดแต่ละคน โดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้ารับบริการเล่นดนตรี แต่เพื่อพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ เช่น ทางด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ และด้านสติปัญญา ทั้งศิลปะบำบัดและดนตรีบำบัดต่างก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการแพทย์เสริมและทางเลือก (complementary and alternative medicine) ซึ่งเป็นการรักษาทางจิตเวชด้วยการใช้กิจกรรมทางศิลปะหรือดนตรี

การใช้ศิลปะบำบัดและดนตรีบำบัดนั้น จากงานวิจัยที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานในต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าทั้งศิลปะบำบัดและดนตรีบำบัดสามารถนำมาใช้ได้กับบุคคล ทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ ตลอดจนบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ เช่น ผู้พิการทางสมอง ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง ผู้มีอาการซึมเศร้า เครียด รวมถึงเด็กวัยเรียนที่อยู่ในภาวะสมาธิสั้น ออทิสติก เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมและการเรียนรู้

คุณประโยชน์ของการใช้กิจกรรมด้านศิลปะและดนตรีเพื่อพัฒนาเด็กนั้น สามารถนำมาใช้ใน การปรับพฤติกรรมและการส่งเสริมทักษะทางสมอง EF (Executive Function) จากการศึกษาของนายแพทย์อุดม เพชรสังหาร จิตแพทย์เด็กและเยาวชน พบว่า EF คือหลักประกันความสำเร็จในชีวิต การมีพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น ความสามารถในการควบคุมตนเอง การมีสมาธิ และมีความจำขณะทำงาน มีความคิดยืดหยุ่น มี growth mindset การรู้จักวางแผน เป็นต้น

การแก้ปัญหาของเด็กสมาธิสั้น เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ เด็กออทิสติก สามารถใช้กิจกรรมทางดนตรีและศิลปะมาช่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและท่านสามารถให้ลูกทั้ง 2 ของท่านมีประสบการณ์ทั้งทางด้านดนตรีและศิลปะ และความสนใจของลูกน่าจะเป็นคำตอบที่ดีว่ากิจกรรมใดที่เหมาะสมกับเขา เด็กบางคนก็ชอบทั้ง 2 อย่าง บางคนอาจไม่สนใจทั้ง 2 อย่าง คุณพ่อคุณแม่ก็คงต้องเลือกกิจกรรมอื่น เช่น การเล่นกีฬา หรือการอ่านหนังสือก็ได้ คงไม่มีคำตอบใดที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนในทุกเรื่อง

บริจาคเพื่อมูลนิธิฯ INFO
ขอเชิญร่วมใจบริจาคเพื่อสนับสนุนมูลนิธิเพื่อการศึกษาพิเศษในพระราชูปถัมภ์ฯ
ดูรายละเอียด