การได้ยินบกพร่องส่งผลกระทบต่อการการรับรู้ทางสติปัญญา (Cognitive) และพฤติกรรม (Behavioral)

งานวิจัยพบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างความบกพร่องทางการได้ยินกับความบกพร่องของสมรรถนะทางสมอง (Cognitive impairment) และพบว่าถ้าความเสื่อมหรือความบกพร่องทางการการได้ยินได้ถูกตรวจพบและได้รับการช่วยเหลือเร็วเท่าไหร่ อาจจะสามารถทำให้การรับรู้ทางสติปัญญาดีขึ้น หรือยืดความเสื่อมสมรรถนะทางสมองออกไปได้

มีความเชื่อมโยงระหว่างความบกพร่องของการได้ยินกับความเสื่อมของสมรรถนะทางสมอง

โดยทั่วไปเมื่อคนเราอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ความเสื่อมของร่างกายและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ มักส่งผลให้การรับฟังและสมรรถนะทางสมองค่อยๆ เสื่อมลง ความบกพร่องของการได้ยิน (ระดับมากกว่า 20 เดซิเบล) เกิดขึ้น 40% ในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และเกิดขึ้น 80% ในผู้มีอายุเกิน 85 ปีขึ้นไป ซึ่งพบว่าความเสื่อมดังกล่าวเชื่อมโยงกับความบกพร่องของสมรรถนะทางสมอง

ข่าวดีก็คือว่าความเสื่อมของการได้ยินสามารถช่วยเหลือได้ด้วยการใส่เครื่องช่วยฟัง ถ้าหากพิจารณาดูอย่างจริงจังแล้ว ดูเหมือนเราจะพลาดการเข้าถึงวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้เรายืดเวลา หรือมีโอกาสคงสมรรถนะทางสมองไว้ให้เสื่อมช้าลงได้ เนื่องจากพบว่าผู้สูงอายุได้รับการใส่เครื่องช่วยฟัง เป็นสัดส่วนน้อย

การได้ยินมี 2 domain หลักคือ การได้ยินที่เกิดจากการนำเสียงผ่านอวัยวะการได้ยิน เช่น หูชั้นนอก หูชั้นกลาง หูชั้นใน และการประมวลเสียงจากระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งประกอบด้วยก้านสมอง สมองส่วนกลาง สมองส่วนการได้ยิน กระบวนการรับรู้จากการได้ยินเสียง เริ่มจากการที่เสียงเข้ามาและส่งผ่านอวัยวะต่างๆอย่างสัมพันธ์กันตั้งแต่อวัยวะรับเสียงจนถึงสมองส่วนการได้ยินที่ทำงานเชื่อมโยงกับบริเวณสมองส่วนอื่นๆ

ความเสื่อมของการได้ยิน หรือความบกพร่องของการได้ยิน ทำให้สมองขาดการกระตุ้นจากเสียง ข้อมูลที่ถูกส่งไปที่สมองจึงไม่สมบูรณ์ และมีคุณภาพไม่ดีพอ ทำให้ผู้สูงอายุได้ยินลดลง หรือได้ยินไม่ชัดเจน ซึ่งค่อยๆ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและหน้าที่ของระบบการได้ยินส่วนกลาง (central auditory system) กับของสมรรถนะของสมอง (cognitive system)

บ่อยครั้งที่ผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมักแกล้งทำเป็นว่าเข้าใจ แทนที่จะทวนคำถามเพื่อความแน่ใจในเรื่องที่กำลังสนทนากัน หรือเข้าใจการร้องขอให้ทำ หรือไม่ให้ทำกิจกรรมบางอย่าง หากผู้สูงอายุไม่ได้ใส่เครื่องช่วยฟังเพื่อให้สามารถได้ยินการสนทนา และคงสมรรถนะของสมองไว้เพื่อให้เข้าใจการสนทนา พฤติกรรมที่ตามมาคือการเริ่มถอยห่างจากการอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น สุดท้ายจะมีบุคลิกปลีกตัวจากสังคม มีความรู้สึกหดหู่ เศร้า โดดเดี่ยว ซึ่งจะเพิ่มอัตราการถดถอยเข้าสู่การเลื่อมของสมรรถนะของสมองมากยิ่งขึ้น

ถึงแม้เราอาจจะไม่เคยตระหนักมาก่อนว่าความบกพร่องทางการได้ยินส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และมีบทบาทสำคัญต่อความเสื่อมของสมรรถนะของสมองของผู้สูงอายุที่เรารัก ก็ยังไม่สายไปที่จะรีบให้การช่วยเหลือให้ท่านกลับมาได้ยิน ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพูดคุยสนทนากับลูกหลานท่ามกลางความรักและความเข้าใจ

………………………………………………………………………………………………………………………………………………………….

บทความจาก The Cognitive and Behavioral Consequences of Hearing Loss, Part 1: Evaluation and Treatment
By Ronald Devere, MD

Comments are closed.